เมื่อเด็กๆเริ่มเข้าช่วงวัยที่จะต้องเริ่มกินข้าว คือช่วง 6 เดือนขึ้นไป หรือในเด็กบางคนคุณหมออาจจะประเมินตามความพร้อม อาจจะเร็วหรือช้ากว่า 6 เดือนได้บ้างค่ะ การเริ่มทานอาหารจะค่อยๆเริ่มทดแทนมื้อนมในบางมื้อ จนข้าวกลายเป็นอาหารหลักและนมกลายเป็นอาหารเสริมแทนค่ะ ซึ่งแม่ๆคงต้องเตรียมหา อุปกรณ์กินข้าว สำหรับทารก เพื่อให้เหมาะสมกับวัย และปลอดภัยสำหรับเด็กที่เพิ่งเริ่มทานอาหารด้วยนะคะ ซึ่งหลายๆตัวที่มิ้วแนะนำนั้น เป็นอุปกรณ์ที่มิ้วใช้จากประสบการณ์จริงด้วยค่ะ
12 อุปกรณ์กินข้าว สำหรับลูกน้อยวัยหัดกิน
- เก้าอี้กินข้าวเด็ก แบบพกพา
- เก้าอี้กินข้าวเด็ก High chair
- ผ้ากันเปื้อน
- ชุดทานข้าว ซิลิโคน
- ช้อนส้อมแบบหัดกินเอง
- แก้วหัดดื่ม
- ถ้วยบดอาหาร
- เครื่องนึ่งปั่นอาหารเด็ก
- บล็อคซิลิโคน
- กล่องเก็บอาหาร
- ผ้ายางปูพื้น
- อุปกรณ์ทำความสะอาด
1. เก้าอี้กินข้าวเด็ก อุปกรณ์กินข้าว แบบพกพา
สำหรับเด็กๆที่เริ่มนั่งได้บ้างแล้ว ในช่วงวัย 5-6 เดือน สามารถนั่งเก้าอี้ทานข้าวได้ ซึ่งเก้าอี้ที่ควรเลือกใช้ ควรเป็น เก้าอี้กินข้าวเด็ก ที่มีสายรัดที่สามารถปรับความสั้นยาวของสายได้ด้วย เพราะเด็กๆในช่วงวัย 5-6 เดือนจะมีขนาดตัวค่อนข้างเล็ก ดังนั้นการนั่งเก้าอี้ที่มีสายรัดในขณะที่กินข้าวจึงปลอดภัยกว่า เก้าอี้กินข้าวเด็ก แบบพกพา พับเก็บได้ง่าย สามารถวางตั้งบนพื้นหรือ รัดกับเก้าอี้ทานข้าวของผู้ใหญ่ได้เช่นกัน เก้าอี้กินข้าวเด็กแบบนี้นอกจากจะใช้ในบ้านแล้วยังสะดวกต่อการพกพาไปใช้นอกบ้านอีกด้วยนะคะ
2. เก้าอี้กินข้าวเด็ก High chair
พอมัทฉะกับโมจิอายุได้ประมาณ 7-8 เดือน ตัวเค้าเริ่มใหญ่ขึ้นแล้ว มิ้วจะเปลี่ยนให้มานั่ง เก้าอี้กินข้าวเด็ก แบบ High chair ค่ะ เนื่องจากตัวเค้าค่อนข้างเล็ก ก่อนหน้านี้ให้นั่งแบบ High chair หัวพ้นถาดวางอาหารมานิดเดียวค่ะ และสายรัดก็ยังหลวมไป ดังนั้นเมื่อเด็กๆนั่งได้ดีขึ้น ตัวสูงขึ้น การเลือกนั่งแบบ เก้าอี้กินข้าวเด็ก แบบ High chair จะช่วยให้การทานอาหารร่วมกับคุณพ่อคุณแม่ง่ายขึ้นค่ะ ปรับระดับความสูงให้เท่ากับโจ๊ะทานข้าวของเรา เมื่อกินข้าวพร้อมๆกัน ก็จะช่วยให้เด็กๆกินข้าวได้เยอะขึ้น เรียนรู้วิธีการกินจากเรา ฝึกทานเองได้รวดเร็วขึ้นค่ะ
สำหรับ เก้าอี้กินข้าวเด็ก High chair ควรเลือกแบบที่สามารถปรับระดับความสูงได้, มีล้อเลื่อน, ถาดวางอาหารถอดล้างได้, มีสายรัดหลายจุด รวมถึงสายรัดตรงหน้าอกด้วยค่ะ ป้องกันเด็กๆยืน
3. ผ้ากันเปื้อน
ช่วงแรกๆหากคุณพ่อคุณแม่ใช้วิธีป้อนข้าวลูก การหาผ้ากันเปื้อนที่ น้ำหนักเบา สามารถซักคราบสกปรกออกง่าย แห้งไว จะช่วยลดขั้นตอนการเก็บกวาดได้มากทีเดียวค่ะ เพราะถึงแม้เราจะป้อนข้าวลูก ก็เลอะเทอะทุกมื้อเลยค่ะ และถ้าหากคุณพ่อคุณแม่เริ่มให้เด็กๆทานข้าวเองหรือทานแบบ BLW (Baby-Led Weaning) ควรเตรียมผ้ากันเปื้อน อุปกรณ์กินข้าว สำหรับ BLW ตอนใส่ทานข้าวด้วยนะคะ จะเป็นเสื้อกันเปื้อนแบบแขนยาว คล้ายๆเสื้อคลุม สามารถคลุมถาดรองอาหารได้ด้วยจะดีมากค่ะ จะทำให้ลดเวลาในการทำความสะอาดได้ ซึ่งชุดคลุมกันเปื้อนควรเลือกแบบระบายอากาศได้ดี ใส่แล้วไม่ร้อน น้ำหนักเบา ซักคราบเปื้อนออกง่าย และแห้งเร็วค่ะ
4. ชุด อุปกรณ์กินข้าว ซิลิโคน
การเลือกอุปกรณ์ทานข้าวสำหรับเด็กก็สำคัญไม่แพ้กันเลยนะคะ เพราะทุกอย่างที่เข้าปากลูกควรสะอาด ปลอดภัย ผ่านการรับรองและได้มาตรฐาน ปราศจากสาร BPA ทนอุณหภูมิร้อนเย็นได้ด้วยจะดีมากค่ะ ซึ่งอุปกรณ์ทานอาหารส่วนใหญ่ที่เริ่มให้ลูกใช้ในวัยหัดทาน แนะนำเป็นจานดูดซิลิโคน ชามดูดซิลิโคน จะสามารถยึดกับโต๊ะ หรือถาดรองอาหารได้เพื่อป้องกันการหกเลอะเทอะได้ดี
5. ช้อนส้อมแบบหัดกินเอง
กล้ามเนื้อมือมัดเล็กของลูกน้อยกำลังอยู่ในช่วงพัฒนา การใช้แรง หรือออกแรงอาจจะยังมีไม่มาก ช้อนที่เหมาะกับลูกน้อยในช่วงหัดทาน ควรเป็นช้อนที่จับถนัดมือ ขนาดพอดีมือ มีน้ำหนักเบา ไม่ยาวจนเกินไป จะช่วยให้เด็กๆทานข้าวง่ายขึ้นค่ะ
6. แก้วหัดดื่ม
เมื่อลูกเริ่มดื่มน้ำได้แล้วหลัง 6 เดือนขึ้นไป แก้วหัดดื่ม เป็นอีกหนึ่งไอเท็ม ที่แม่ๆหลายคนตามหาใช่มั้ยค่ะ เพราะการจะเปลี่ยนจากการดูดเต้า หรือการดูดขวดนม มาเป็นดูดหลอดนั้น เด็กๆต้องใช้การฝึกสักพักหนึ่งเลยค่ะ ซึ่งแก้วหัดดื่มเป็นอีกตัวช่วยหนึ่งเลยค่ะ ที่จะช่วยลดการสำลักน้ำ ในช่วงเริ่มต้นได้ดีเลย ในช่วงแรกๆที่เราฝึกลูกให้ดูดน้ำเอง ถือแก้วน้ำเอง ต้องมีหล่นพื้น หรือปาแก้วบ้างแหละ ดังนั้นการเลือกแก้วหัดดื่มแบบ คว่ำไม่หก ตกไม่แตก เข้าเครื่องนึ่งได้ น้ำหนักเบา นอนดูดก็ได้ นั่งดูดก็ได้ แนะนำตัวนี้เลยค่ะ
7. ถ้วยบดอาหาร
การเริ่มทานอาหารของลูกน้อยตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไป จำเป็นต้องมีการบดหรือปั่นอาหาร ในลักษณะบดละเอียดก่อน แล้วค่อยๆบดหยาบขึ้นในช่วง 8-9 เดือน และบดหยาบขึ้นเรื่อยๆจนกินแบบไม่ต้องบดได้หลัง 1 ขวบขึ้นไปค่ะ ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับเด็กๆแต่ละคนด้วยนะคะ ว่ามีความพร้อมในการทานแบบบดหยาบมากแค่ไหน เพื่อป้องกันการสำลักหรืออาหารติดคอได้ค่ะ พวกผลไม้ชิ้นใหญ่ๆแข็งๆ เช่น มะละกอ มะม่วงสุก ก็ควรบดให้ละเอียดในช่วงแรกๆด้วยเช่นกัน ซึ่งถ้วยบดอาหารที่มิ้วใช้ เป็นถ้วยบดที่สามารถบดข้าว ผลไม้ บดผัก หรือหมูต้ม ได้ค่ะ นอกจากนี้ยังใช้คั้นน้ำส้ม หรือบดยาได้ด้วยนะคะ ถือว่าราคาน่ารักและใช้ประโยชน์ได้หลากหลายมากๆ ควรมีติดบ้านไว้เลยค่ะ
8. เครื่องนึ่งปั่นอาหารเด็ก
ช่วงเริ่มกินแรกๆ เด็กๆทานได้นิดเดียวค่ะเพราะน้ำหนักตัวเค้ายังน้อย ตัวเค้ายังเล็กอยู่ ดังนั้นการทำอาหารแต่ละมื้อ ทีละน้อยๆอาจทำให้ใช้เวลาพอสมควร เครื่องนึ่งปั่นอาหารเด็ก จึงเป็นอีกตัวช่วยลดเวลาในการทำอาหารแต่ละมื้อให้แม่ๆได้ค่ะ เพียงแค่เตรียมวัตถุดิบ เนื้อสัตว์ ผัก ข้าว น้ำซุป ใส่ลงไปใน เครื่องนึ่งปั่นอาหารเด็ก ก็ช่วยลดเวลาทั้งการ ปั่น การนึ่ง การต้ม แล้วยังช่วยลดเวลาล้างหม้อ ภาชนะต่างๆให้แม่ๆอีกด้วย ถือว่าสะดวกมากเลยหละค่ะ
9. บล็อคซิลิโคน
หากแม่ๆต้องกลับไปทำงาน หรือไม่มีเวลาทำอาหารทุกวัน ก็จำเป็นต้องทำอาหารแล้วฟรีซเก็บใส่ตู้เย็นออกมาอุ่นทานในแต่ละมื้อ ดังนั้นการเก็บหารจำนวนพอดีกับแต่ละมื้อ และแยกเก็บระหว่าง ข้าวบด, น้ำซุป, เนื้อบด ก็จะช่วยเก็บได้นานและน่าทานกว่าค่ะ บล็อกซิลิโคน สามารถแบ่งเก็บจำนวนน้อยๆ พอดีกับแต่ละมื้อได้ ควรเลือกบล็อคซิลิโคนที่ได้มาตรฐาน Food grade มีการรับรองคุณภาพ ทนความร้อนหรือเย็นได้ดี
10. กล่องเก็บอาหาร
เมื่อเด็กๆเริ่มโตขึ้น ก็ทานเยอะขึ้นมากตามน้ำหนักตัว ดังนั้นบล็อคซิลิโคน อาจจะไม่เพียงพอต่อการเก็บอาหารในปริมาณมากๆได้ กล่องเก็บอาหารที่มีหลายขนาดให้เลือกจะเป็นอีกตัวช่วย ที่ช่วยเก็บอาหารปริมาณที่เยอะขึ้น ควรเลือกกล่องที่สามารถเข้าไมโครเวฟได้ ทนความร้อนและเย็นได้ มีมาตรฐาน
11. ผ้ายางปูพื้น
ทุกครั้งที่ลูกน้อยทานอาหาร หากเราให้เค้าฝึกทานอาหารด้วยตัวเอง ก็มักจะเลอะเทอะเปรอะเปื้อนทั้งบนโต๊ะและบนพื้นเลยค่ะ แนะนำให้เตรียม ผ้ายางปูพื้น ปูก่อนกางโต๊ะทานข้าวของลูกไว้ เมื่อเค้ากินหกเลอะเทอะ จะได้ช่วยประหยัดเวลาในการทำความสะอาดของแม่ๆด้วยนะคะ
12. อุปกรณ์ทำความสะอาด
เรื่องกินสำคัญเช่นไหน ความสะอาดต้องมาก่อนเช่นนั้น เพราะของกินทุกอย่าง อุปกรณ์ทุกสิ่งที่เข้าปากต้องสะอาดเสมอนะคะ เพื่อลดเชื้อโรคและแบคทีเรียที่ทำให้เด็กๆป่วยได้ค่ะ ก่อนทานข้าวทุกครั้งควรล้างมือให้สะอาด เช็ดพื้นผิวสัมผัสบริเวณที่ทานข้าว และล้างอุปกรณ์การกินให้สะอาดค่ะ อุปกรณ์ทำความสะอาดที่มิ้วใช้มีดังนี้ค่ะ ทิชชู่เปียก, แอลกอฮอล์, น้ำอิเล็กโทรไลต์ (สามารถฆ่าเชื้อโรคพวกมือเท้าปาก และ RSV ได้ด้วยนะคะ), สบู่ล้างมือ, น้ำยาล้างจานเด็ก เป็นต้นค่ะ
ทั้งหมดนี้คือ อุปกรณ์กินข้าว สำหรับลูกน้อยวัยหัดกิน 6 เดือนขึ้นไป ที่มิ้วลิตส์ชิ้นสำคัญๆมาให้แม่ๆเลยค่ะ สำหรับแม่ๆมือใหม่ที่ลูกเพิ่งเริ่มเข้าวัยหัดทานข้าว สามารถค่อยๆเตรียมไปทีละชิ้นได้นะคะ เมื่อลูกเริ่มโตขึ้น อุปกรณ์กินข้าวก็จะเปลี่ยนไปตามช่วงวัย ดังนั้นควรเลือก อุปกรณ์กินข้าว ที่เหมาะกับลูกเราที่สุดค่ะ เพราะการฝึกลูกทานข้าวเองก็เป็นกิจวัตรประจำวันที่ลูกต้องใช้ทุกวัน แถมยังช่วยสร้างวินัยให้ลูกไม่น้อยเลยค่ะ
ติดตามบทความดีๆได้ที่ www.tateestory.com หรือติดตามผ่านช่องทางอื่นๆ ทั้ง Facebook, Youtube และ Instagram ได้ตามที่ด้านล่างนี้เลย