หลายครั้งแม่ๆอาจรู้สึกว่าวันหนึ่งๆเราหมดพลังไปกับการเลี้ยงลูกเยอะมาก ต้องดูแลลูกทั้งวันเลย แต่เมื่อลูกเริ่มโตขึ้น ลูกจะเริ่มช่วยเหลือตัวเองได้มากขึ้น มีวินัยมากขึ้น โดยผ่านการฝึกฝนทุกวันๆ ซึ่งการฝึกให้ลูกได้ช่วยเหลือตัวเองนั้น เป็นสิ่งที่จะทำให้แม่ๆเหนื่อยน้อยลง มีเวลามากขึ้นเป็นผลดีกับทั้งลูก และแม่เลยนะคะ ซึ่งวันนี้มิ้วจะมาแชร์ 9 เทคนิค ฝึกลูกกินข้าวเอง จากประสบการณ์ของมิ้วเองที่ฝึกมัทฉะกับโมจิแล้วได้ผลมากๆเลยค่ะ ทั้งหมด 9 ข้อนี้ช่วยทำทุกวันทีละเล็กละน้อย ดูเหมือนเล็กน้อย แต่สิ่งเหล่านี้สร้างวินัยและนิสัยการกินที่ดีให้เด็กๆในระยะยาวนะคะ
9 เทคนิค ฝึกลูกกินข้าวเอง
- ฝึกนั่งบนโต๊ะกินข้าวทุกครั้ง
- กินข้าวเป็นเวลา
- ค่อยๆฝึกลูกใช้ช้อน
- ไม่เล่นหรือทำอย่างอื่นขณะกินข้าว
- เลอะเทอะก็ไม่เป็นไร
- กินข้าวพร้อมกัน
- สร้างบรรยากาศในการกินข้าว
- ชื่นชมเมื่อลูกกินข้าวเสร็จ
- สิ่งที่ขาดไม่ได้คือ ความพยายามของแม่
1.ฝึกนั่งบนโต๊ะกินข้าวทุกครั้ง
การฝึกลูกน้อยนั่งบนโต๊ะกินข้าว หรือเก้าอี้ทานข้าวของตัวเอง สามารถทำได้ตั้งแต่เริ่มกินข้าวมื้อแรกได้เลยนะคะ เพราะการให้ข้าวมื้อแรกของเด็กทารกนั้น ลูกน้อยต้องสามารถนั่งได้แล้ว โดยส่วนใหญ่จะให้ทานมื้อแรกคืออายุราวๆ 6 เดือนค่ะ
แนะนำเก้าอี้กินข้าว ซึ่งเก้าอี้นั่งทานข้าว ควรเป็นเก้าอี้ทานข้าวที่ปลอดภัย มีสายล็อคตัว สายรัดหน้าอก และมีพนักพิงหลังและคอค่ะ โดยการ ฝึกลูกกินข้าวเอง แบบนี้ทุกมื้ออาหาร จะทำให้เค้าคุ้นเคยกับเก้าอี้ทานข้าวของตัวเอง เมื่อเราอุ้มมาที่เก้าอี้นี้ ลูกจะเรียนรู้ว่าถึงเวลากินข้าวแล้ว และไม่งอแงวิ่งไปวิ่งมาระหว่างกินข้าว
2.กินข้าวเป็นเวลา
ในช่วงที่ลูกยังเล็กการฝึกทานข้าวเป็นเวลา อาจจะยากหน่อยนะคะในช่วงแรกๆ เพราะเด็กทารกมักจะนอนเยอะ บางครั้งอาจนอนเลยเวลาทานข้าวไปบ้าง ต้องให้เวลาปรับตัวสักระยะหนึ่งค่ะ โดยมื้อแรกเริ่มจากการเพิ่มมื้อข้าว 1 มื้อแทนมื้อนมก่อน อาจจะให้กินเป็นช่วง เช้า กลางวัน หรือเย็น เอาเวลาที่คุณแม่สะดวก และมีเวลาทำอาหาร พอเข้า 8-9 เดือน ปรับเป็น กินข้าววันละ 2 มื้อ หลังจากนั้น ประมาณ 11 เดือน เริ่มปรับเป็นข้าววันละ 3 มื้อ โดยคุณแม่สามารถค่อยๆปรับตามความพร้อมของลูกน้อยไปด้วยได้ค่ะ
ซึ่งทั้ง 3 มื้อนี้ สามารถกำหนดเวลากินข้าวเป็นเวลาปกติเหมือนผู้ใหญ่เลยค่ะ จะทำให้เค้าหิวเป็นเวลา ถึงเวลากิน ก็หิวเป็นเวลา เค้าจะทานข้าวได้แบบที่ไม่ต้องถูกบังคับให้กิน ซึ่งการกินข้าวให้ตรงเวลาก็เป็นผลดีต่อสุขภาพของลูกน้อยด้วยนะคะ
3. ค่อยๆฝึกลูกใช้ช้อน
การ ฝึกลูกกินข้าวเอง อาจจะมีหลายวิธี บางบ้านก็ใช้เทคนิคการกินแบบ BLW หรือบางบ้านก็เน้นเป็นการป้อนแทน ซึ่งคุณแม่สามารถเลือกใช้ให้เหมาะกับไลฟ์สไตล์หรือความสะดวกได้ค่ะ ซึ่งมิ้วเป็นสายผสมนะคะ เลือกวิธีกิน โดยการปรับเปลี่ยนตามความพร้อมของลูกและความสะดวกของแม่
มิ้วเริ่มจากการป้อนก่อนในช่วง 6-7 เดือน จากนั้นอายุประมาณ 8-9 เดือน มิ้วเริ่มจับมือเค้าให้ถือช้อนแล้วป้อนไปด้วย พอเค้าอายุสัก 1 ขวบ มิ้วก็เริ่มปล่อยให้เค้าจับช้อนเอง แต่ยังมีป้อนบ้างช่วยจับบ้างค่ะ มือของลูกน้อยจะเริ่มมีแรง และสามารถจับช้อนกินข้าวได้เองก็ราวๆ 1 ขวบ 4 เดือนค่ะ ซึ่งการ ฝึกลูกกินข้าวเอง โดยการใช้ช้อนนั้น มีเคล็ดลับง่ายๆด้วยการเลือกช้อนตามวัยให้ลูกน้อย จะทำให้การกินข้าวเองง่ายขึ้นค่ะ อ่านเพิ่มเติม >> เลือกช้อนกินข้าวให้ลูกตามวัย
4. ไม่เล่นหรือทำอย่างอื่นขณะกินข้าว
สิ่งสำคัญอีกอย่างที่จะทำให้การ ฝึกลูกกินข้าวเอง เห็นผลเร็วและง่ายต่อคุณพ่อคุณแม่ยิ่งขึ้น คือ เมื่อถึงมื้ออาหารแล้ว ให้เด็กๆโฟกัสกับการกินเพียงอย่างเดียวเท่านั้นค่ะ ไม่เล่นหรือทำอย่างอื่นขณะกินข้าว เพื่อให้เด็กๆรู้วินัยการกินโดยอัตโนมัติ เมื่อถึงเวลากิน ไม่ควรเล่น ไม่ควรทำอย่างอื่น เค้าก็จะตั้งใจกินจนหมด ไม่ว่อกแว่ก เมื่อเราฝึกบ่อยๆ เด็กๆก็จะเรียนรู้ และสามารถฝึกกินข้าวด้วยตัวเองได้แล้ว ถึงแม้คุณพ่อคุณแม่จะไม่ได้นั่งเฝ้าตลอดก็ตามค่ะ ซึ่งไม่เล่นหรือทำอย่างอื่นขณะกินข้าวคุณพ่อคุณแม่ก็ต้องทำเป็นตัวอย่างให้ลูกด้วยเช่นกันนะคะ
5. เลอะเทอะก็ไม่เป็นไร
เมื่อลูกๆเริ่มทานอาหารด้วยตนเอง การใช้มือหยิบจับอาหาร หรือการใช้ช้อน นั้นเป็นธรรมดาที่จะมีอาหารหก หล่น เลอะเทอะเสื้อผ้าอย่างแน่นอนค่ะ เพราะกล้ามเนื้อมัดเล็กของลูกน้อยยังพัฒนาไม่เต็มที่ การหยิบจับอาหารและช้อน ต้องใช้กำลังมือ และนิ้วไปพร้อมๆกัน ดังนั้นอย่ากลัวที่จะเปรอะเปื้อน อาจจะต้องใช้เวลาเก็บกวาดสักหน่อย แต่ลูกน้อยจะค่อยๆพัฒนากินอย่างเรียบร้อยมากขึ้นค่ะ คุณแม่อาจหาตัวช่วยที่จะช่วยลดขั้นตอนในการเก็บกวาดเศษอาหารที่หกเลอะเทอะเตรียมไว้ เช่น ผ้าปูยางรองพื้น เสื้อรองกันเปื้อน เป็นต้น
6. กินข้าวพร้อมกัน
เชื่อไหมค่ะว่า การกินข้าวพร้อมหน้าพร้อมตากัน จะทำให้ลูก ฝึกกินข้าวเอง ได้เร็วยิ่งขึ้น ทุกครั้งที่ทานอาหาร หากคุณพ่อคุณแม่นั่งร่วมโต๊ะอาหารและกินไปพร้อมๆกัน เด็กๆมักเรียนรู้การใช้ ช้อนส้อม เลียนแบบพฤติกรรมการกิน นั่นจะทำให้เค้าเห็น และเกิดการทำตาม จึงทำให้เค้าฝึกกินข้าวเองได้ดีขึ้นค่ะ นอกจากนี้ยังช่วยสร้างบรรยากาศที่ดี ทำให้ลูกน้อยเจริญอาหาร กินข้าวได้เยอะขึ้นด้วยนะคะ
7. สร้างบรรยากาศในการกินข้าว
เมื่อเราเริ่มฝึกการกินข้าว จนเริ่มกลายเป็นกิจวัตรประวันของลูกน้อยแล้ว เค้าจะเริ่มเรียนรู้ว่าเค้าจะต้องกินข้าวตอนไหน เรียนรู้รสชาติในแต่ละวัน เรียนรู้ความหิว เรียนรู้บรรยากาศบนโต๊ะอาหาร หากในบ้านของเราทานอาหารกันแบบมีความสุข อิ่มก็พอ ไม่บังคับ ทุกคนให้ความสำคัญกับเรื่องกินนะ กินน่าอร่อยจัง เด็กๆจะรับรู้ได้ว่าเค้าไม่ได้ถูกบังคับกิน เมื่อเค้าแฮปปี้กับการกินแล้ว การฝึกกินข้าวเองก็ทำให้เค้ารู้สึกว่าไม่ได้ถูกแม่บังคับด้วยเช่นกัน
8. ชื่นชมเมื่อลูกกินข้าวเสร็จ
การพูดชื่นชม ปรบมือให้ หรือให้รางวัล เป็นการช่วยให้ลูกน้อยมีกำลังใจที่จะพยายาม ฝึกกินเอง มากขึ้น ดังนั้นการชื่นชมเมื่อลูกกินข้าวเสร็จ คุณพ่อคุณแม่อาจให้คำชมที่ความพยายามของเค้า เช่น “วันนี้หนูพยายามกินเองได้ดีขึ้นมากเลยนะคะ ไม่ลุกออกจากเก้าอี้เลย เก่งจังเลยค่ะ” เป็นต้น หรืออาจให้รางวัลเป็นผลไม้ที่ลูกชอบ หลังจากกินข้าวเสร็จ ก็ได้นะคะ แบบนี้จะช่วยให้ลูกน้อยภูมิใจในการกินข้าวของตัวเอง และสนุกกับการกินมากยิ่งขึ้นด้วยค่ะ
9. สิ่งที่ขาดไม่ได้คือ ความพยายามของแม่
เชื่อว่าการฝึกลูกให้ช่วยตัวเองทำในสิ่งต่างๆนั้นไม่ง่ายเลยค่ะสำหรับคุณแม่มือใหม่ ดังนั้นความพยายามของแม่นี่แหละ เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้เลยนะคะ ยิ่งคุณแม่พยายามมากเท่าไหร่ ลูกน้อยก็จะสามารถ ช่วยเหลือตัวเองได้ดีขึ้นค่ะ บางครั้งเราอาจจะรู้สึกขี้เกียจเก็บกวาดอาหารที่หกเลอะเทอะจังเลย ป้อนดีกว่า ยิ่งทำให้ การฝึกกินข้าวเองของลูก ได้ผลช้าและยากกว่าเดิม สิ่งสำคัญคือความพยายามและอดทนของคุณแม่ อาจจะใช้เวลาสักหน่อย แต่รับรองว่าได้ผลดีในระยะยาวแน่นอนค่ะ 🙂
ทั้งหมดนี้คือ 9 เทคนิค ฝึกลูกกินข้าวเอง แม่สบายไม่ต้องป้อนแล้ว ที่มิ้วใช้กับมัทฉะและโมจิ ฝึกกินข้าวเอง เป็นเวลา 4 เดือน จนเค้าสามารถกินข้าวเองได้โดยที่มิ้วไม่ต้องช่วยเลยค่ะ มิ้วก็มีเวลานั่งกินข้าวไปพร้อมๆกับเค้าด้วยได้ ซึ่งในระหว่างทางที่เราฝึกเค้า นอกจากเราจะเห็นความพยายามของตัวเองแล้ว เรายังเห็นความพยายาม พัฒนาการ ความตั้งใจของลูกด้วยนะคะ ว่าเค้าสามารถกินข้าวเองได้ดีขึ้นขนาดไหน และสิ่งที่คุณแม่อย่างเราพยายามทำ สะสมทีละเล็กทีละน้อย ก็เพื่อวินัยการกินที่ดีให้กับลูกน้อยของเราค่ะ
ติดตามความรู้ดีๆ เกี่ยวกับลูกน้อยได้ที่ www.tateestory.com หรือ ตาม Facebook, Youtube และ Instagram ด้านล่างเลย